การเป็นเจ้าของบ้านหรือการซื้อบ้านสักหนึ่งหลัง จำเป็นต้องใช้เงินก้อนเป็นจำนวนมาก หลายคนจึงหาวิธีการที่ง่ายที่สุดนั่นก็คือยื่นขอสินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มี ที่ดินเปล่า เป็นของตนเอง ซึ่งอาจจะได้มาจากมรดกหรือซื้อเก็บไว้ ดังนั้นขั้นตอนและวิธีการกู้เงินเพื่อนำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเปล่านั้นจะมีความแตกต่างกับการกู้ซื้อบ้านแบบปกติอยู่บ้าง วันนี้เราจึงมี Step ในการวางแผนกู้เงินเพื่อนำมาเป็นทุนในการปลูกสร้างบ้านมาฝาก
เจ้าของโฉนดที่ดินเป็นใคร
อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าที่ดินที่จะทำการปลูกสร้างบ้านนั้นใครเป็นเจ้าของ ซึ่งถ้าหากในโฉนดเป็นชื่อของผู้กู้เองนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียว เพราะช่วยลดความยุ่งยากและมีแนวโน้มที่ทางสถาบันการเงินจะอนุมัติได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นในกรณีที่มีที่ดินเป็นมรดกหรือทำการซื้อขายใดๆ ควรไปจัดการโอนเป็นเจ้าของก่อนทำเรื่องยื่นกู้จะดีที่สุด แต่ถ้าหากที่ดินเป็นชื่อของบุคคลอื่นจะต้องดำเนินการยื่นกู้ร่วมกัน แต่สถาบันการเงินจะพิจารณารายได้จากผู้กู้เป็นหลัก
เลือกแบบบ้าน
บ้านเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความคงทนถาวร และต้องใช้เป็นที่พักอาศัยไปอีกเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นก่อนการก่อสร้างจึงควรหาสไตล์บ้านที่ชอบ ขนาดบ้านที่ต้องการ ความโดดเด่นรวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสม ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคนในครอบครัว หรือหากต้องการแบบบ้านที่มีให้โหลดฟรีในอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องเลือกแบบบ้านที่มีลายเซ็นสถาปนิกกำกับงานสถาปัตย์, ลายเซ็นวิศวกรกำกับงานระบบ , รายการประมาณค่าก่อสร้าง ฯลฯ อย่างชัดเจน ก็จะสามารถช่วยลดขั้นตอนในการจ้างสถาปนิกไปได้
เลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ
การเลือกผู้รับเหมาที่มีความเป็นมืออาชีพมาสร้างบ้าน จะช่วยลดปัญหาจุกจิกกวนใจในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี โดยสามารถหาจากการแนะนำของคนใกล้ชิด, ดูจากประสบการณ์ในการทำงาน หรือดูจากความน่าเชื่อถือของบริษัท ยิ่งบริษัทรับเหมามีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร สถาบันการเงินก็จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อเลือกผู้รับเหมาได้แล้วเราก็ให้เขาจัดการออกแบบบ้าน โดยแจ้งรูปแบบบ้าน, สไตล์บ้านที่ต้องการ ,งบประมาณในการก่อสร้าง ขนาดที่ดินที่ใช้ในการปลูกสร้าง ในขั้นตอนนี้เราสามารถตกลงกับผู้รับเหมาได้ว่าถ้าสามารถยื่นกู้ผ่านเราจะจ้างเขา และถ้าหากกู้ไม่ผ่านจะจ่ายค่าเขียนแบบให้เขาได้เท่าไรเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต
เอกสารประกอบการปลูกสร้าง
การยื่นกู้กับสถาบันการเงิน นอกจากจะมีเอกสารประจำตัวและเอกสารแสดงรายได้แล้วนั้น เรายังต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสร้าง ซึ่งอาจจะต้องมีการติดต่อกับบุคคลหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก, ผู้รับเหมา, เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น อาจจะดูยุ่งยากอยู่บ้าง แต่เอกสารเหล่านี้ผู้กู้จำเป็นที่จะต้องแสดงต่อสถาบันการเงิน เพื่อใช้ในการพิจารณาประกอบสินเชื่อโดยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างมีดังนี้
โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก ฉบับจริงพร้อมสำเนาถ่ายหน้า-หลังแสดงตำแหน่งแปลงที่ดินที่ต้องการปลูกสร้างโดยโฉนดที่ดินเอกสารชุดนี้จะต้องเป็นชื่อของผู้กู้หลักหรือผู้กู้ร่วม
แบบบ้าน, แปลนบ้าน, เอกสารประมาณราคาก่อสร้าง ถือเป็นเอกสารที่สำคัญมากในการยื่นขอสินเชื่อเพราะทางสถาบันการเงินจะดูแบบแปลนบ้านรวมถึงรายการวัสดุก่อสร้างเพื่อพิจารณาวงเงินที่ผู้กู้จะได้รับ
สัญญาผู้รับเหมาก่อสร้าง แสดงถึงลำดับการปลูกสร้างตั้งแต่เริ่มจนจบ เป็นการแสดงความชัดเจนว่ามีผู้รับผิดชอบสร้างบ้านได้จริงตามแผนที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้รับเหมา จะรวมอยู่ในวงเงินกู้ที่เราได้ทำการขอกู้กับสถาบันการเงิน
ใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งก่อนที่จะทำการปลูกสร้างบ้านได้นั้นผู้กู้ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอาทิ ถ้าหากสร้างบ้านในเขตกรุงเทพมหานคร ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน ถ้าหากอยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นขอได้ที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเป็นการยืนยันว่าการก่อสร้างได้รับการอนุญาต เป็นไปอย่างถูกต้อง และจะไม่เจอกับปัญหาใดๆ ในภายหลัง
ติดต่อสถาบันการเงินยื่นเรื่องกู้
ก่อนที่จะยื่นเรื่องกู้สินเชื่อกับทางสถาบันการเงินใด ผู้กู้จะต้องตระหนักได้ว่าการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น คือเงินกู้ระยะยาวที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน ดังนั้นผู้กู้ควรที่จะต้องพิจารณาเงื่อนไข, อัตราดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียม, วงเงินที่จะได้รับ และนำมาเปรียบเทียบว่าสถาบันการเงินแห่งใด ให้ความคุ้มค่ามากที่สุดและต้องเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อดังนี้
หากสถาบันการเงินอนุมัติวงเงินกู้ ทางสถาบันการเงินจะแจ้งรายละเอียดมายังผู้กู้ เพื่อให้เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังกำหนดระยะเวลาในการรับเงินเป็นงวด ตามความคืบหน้าของการปลูกสร้างอีกด้วย โดยในการเบิกเงินแต่ละงวดธนาคารจะประเมินความคืบหน้าในการก่อสร้าง และเงินในงวดสุดท้ายเมื่อทำการก่อสร้างบ้านเสร็จแล้วสถาบันการเงินจะเข้าไปตรวจความเรียบร้อย ว่าเป็นไปตามสัญญาที่ระบุหรือไม่หากไม่เป็นไปตามสัญญาสถาบันการเงินมีสิทธิ์ปรับหรือยกเลิกสัญญาได้
Comments