"รถไฟฟ้าสายสีแดง" อีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์สำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งคมนาคม และสนับสนุนการเดินทางของคนในประเทศไทย เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม เป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงชานเมืองทั้ง 4 ทิศ เข้ากับใจกลางเมือง โดยเฉพาะอนาคตที่ไทยกำลังพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม หรือฮับ ของประเทศรวมทั้งอาเซียน
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในพิธีต้อนรับรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชิโร ชะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้องร่วมงานอย่างคับคั่ง
นับเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการที่ตั้งตารอรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยขบวนรถชุดแรกที่มีการรับมอบครั้งนี้ ประกอบด้วย ขบวน 6 ตู้ จำนวน 1 ขบวน และขบวน 4 ตู้ จำนวน 1 ขบวน รวมทั้งหมด 10 ตู้ เป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน ส่วนที่เหลืออีก 23 ขบวน จะทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทย เดือนละ 2-3 ขบวนจนครบทั้งหมด 25 ขบวน ภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้น รฟท. จะใช้เวลาทดสอบระบบ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน มกราคม 2564 เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหา การจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ในอนาคตเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง จะให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่ทันสมัย มีความสะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางของคนยุคใหม่ สามารถคำนวณการเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจะช่วยขยายความเจริญและการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปยังย่านชานเมือง ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ได้อีกทางหนึ่ง
โดยระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีจุดเริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ กม.6+000 (จากหัวลำโพง) บริเวณ สามแยกประดิพัทธ์ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 26.3 กิโลเมตร โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ขณะเดียวกัน ยังมี "สถานีกลางบางซื่อ" หรือศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายดังกล่าว จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ เป็นสถานีชุมทางของรถไฟทางไกลสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานดอนเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) และ รถไฟความเร็วสูงที่จะพัฒนาอีกหลายเส้นทาง
โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง จะเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ชานเมือง เข้ามาทำงานในใจกลางกรุงเทพฯ อนาคตเมื่อมีการเดินทาง ที่สะดวก ก็จะช่วยให้ประชาชนขยายที่อยู่อาศัยไปชานเมือง มากขึ้น ลดความแออัดในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ เมื่อศูนย์กลางคมนาคมเปิดให้บริการ ก็จะกลายเป็นฮับเชื่อมต่อการเดินทาง ของไทย และเชื่อมโครงข่ายรถไฟกับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ เมื่อเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คนต่อวัน ในปีที่เปิดให้บริการ และคาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในช่วง 10 ปี แบ่งเป็นปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 86,620 คนต่อวัน ปี 2570 จำนวน 113,031 คนต่อวัน และ ปี 2575 จำนวน 135,129 คนต่อวัน
"รถไฟฟ้าสายสีแดง จะเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่ช่วยอานวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ชานเมือง เข้ามาทางานในใจกลางกรุงเทพฯ"
Comments